Thursday, July 05, 2007

"ข้าพเจ้าขอถึงจตุคามรามเทพว่าเป็นที่พึ่ง”

..จตุคามํ สรณํ คจฺฉามิ.. "ข้าพเจ้าขอถึงจตุคามรามเทพว่าเป็นที่พึ่ง”

กระแสจตุคามรามเทพในฐานะวัตถุมงคลรุ่นใหม่ดังมาตั้งแต่ต้นปี 2550 จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง เพราะมีกระแสศรัทธาและการตลาดเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงอยู่ ครั้งนี้ จึงขอแวะคุยเรื่องนี้กันพอหอมปากหอมคอ มีนักข่าวคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตกับผู้เขียนว่า การที่สังคมไทยคลั่งไคล้จตุคามรามเทพนั้น น่าจะเป็นเพราะสังคมไทยอยู่ในภาวะขาดที่พึ่ง คนจึงวิ่งหาที่พึ่งกันเป็นแถว แต่ผู้เขียนแย้งว่า คนไทยไม่ได้ขาดที่พึ่งแม้สักนิด เพราะอะไรก็ตามที่ถือกันว่าเป็นที่พึ่งของคนไทยนั้น ทุกอย่างก็ยังคงอยู่ครบเหมือนเดิม ดังนั้น สิ่งที่คนไทยขาดกล่าวอย่างตรงไปตรงมาที่สุด คือ คนไทยกำลังขาด "สภาพคล่องทางการเงิน" มากกว่า
ลองถามคนทำมาค้าขายดูก็จะรู้ว่า ตอนนี้การทำมาค้าขายฝืดเคืองขนาดไหน คนเดินห้างยังคงมีอยู่ แต่หาคนจับจ่ายใช้สอยยากขึ้นทุกที การที่คนวิ่งหาจตุคามรามเทพนั้น ลองมองให้ลึกๆ ถึงคติในการนับถือก็จะพบว่า แท้ที่จริงคนไทยต้องการอะไรแน่ ที่พึ่งหรือเงิน ปรัชญาของจตุคามรามเทพที่สมมติกันขึ้นมาก็คือ "มึงมีกูไว้ไม่จน" และชื่อรุ่นแต่ละรุ่นก็สะท้อนปรัชญานี้ทั้งหมด เช่น "รวยไม่รู้จบ รวยไม่มีเหตุผล รวยมหาศาล รวยเงินล้าน รวยทรัพย์นับหมื่นล้าน รวยล้นฟ้า ฯลฯ"
คำว่า "รวย" ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่อรุ่นจตุคามรามเทพ สะท้อนสิ่งที่คนไทยขาดอย่างไม่ปิดบัง ดังนั้น ย้ำกันชัดๆ คนไทยไม่ได้ขาดที่พึ่งในความหมายที่ว่า ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจให้เกิดความอบอุ่นและปลอดภัย แต่คนไทยขาดที่พึ่งทาง เศรษฐกิจ กล่าวคือ ขาดเงินเท่านั้น นอกจากเงินแล้ว หากวิเคราะห์ต่อไป ก็จะพบว่า คนไทยยังขาดสิ่งเหล่านี้ด้วย
(1) ขาดความรู้
(2) ขาดความรู้สึก (3) ขาดจิตสำนึกสาธารณะ
(4) ขาดปัญญาที่เป็นกลางขาดความรู้ คือ คนไทยซึ่งกว่า 90% ปากบอกว่า เป็นชาวพุทธ แต่เรากลับไม่รู้จักหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ากันเอาเสียเลย
ลองคิดดูง่ายๆ คำว่า "จตุคามรามเทพ" นั้น ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า ไม่ใช่คำที่แสดงหลักคิดทางพุทธศาสนา คำว่า "จตุคาม" นั้น เป็นคำเพี้ยนเสียงมาจาก "ขัตตุคาม" ซึ่งแต่เดิมคำนี้มาจากคำว่า "ขันธกุมาร" อีกทีหนึ่ง พระขันธกุมารเป็นเทพองค์หนึ่งในระบบความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ส่วนรามเทพนั้น ไม่ต้องการคำอธิบายมาก "ราม" ก็คือ พระรามนั่นเอง
ดังนั้น แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า จตุคามรามเทพ เป็นพราหมณ์ในนามพุทธ แต่คนไทยแยกไม่ออก ยกมาเป็นสรณะที่พึ่งหมด จนลืมไปว่าที่พึ่งของเราคือพระรัตนตรัยต่างหาก คนที่ขาดความรู้กลุ่มต่อไปก็คือ "พระสงฆ์" ที่ขาดความรู้ทั้งทางธรรมะและทางวินัย ทางธรรมะ พระสงฆ์ที่เป็นพระเกจิอาจารย์จำนวนมาก ล้วนลืมไปว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราชาวพุทธพึ่งตนเอง ไม่ให้พึ่งคนอื่นเป็นหลัก แต่พระสงฆ์กลับสอนให้เราพึ่งเทพ โดยลืมไปอีกว่า แท้จริงแล้ว เทพนั้นต้องพึ่งธรรม เอาง่ายๆ ก็แล้วกันว่า เทพยังต้องมาอาศัยอยู่ตามวัด ตามบ้าน ไม่สามารถสร้างที่อยู่อาศัยให้ตัวเองได้ คนกลับคิดว่า เทพนั้นยิ่งใหญ่จนต้องมอบกายถวายชีวิตให้เทพ และคิดว่าท่านช่วยเราได้ทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ตามความจริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่
ในวัฒนธรรมความรู้ของพุทธศาสนานั้น เทพก็คือ เทวดา และเทวดานั้น ก็เป็นสภาพหรือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ซึ่งดำรงตนอยู่ได้เพราะบุญที่ตนทำไว้ เวลาจะหมดบุญนั้น เทวดาทั้งหลายล้วนอยากเกิดเป็น "มนุษย์" กันทั้งนั้น เพราะการเป็นมนุษย์ มีโอกาสมากกว่าในการทำความดี ในการพัฒนาตนจนสูงสุดจนเป็นพระอรหันต์ก็ยังได้ การอุบัติเป็นมนุษย์ คือ ยอดปรารถนาของเทพทั้งหลาย แต่มนุษย์ทั้งหลาย กลับคิดว่าการเป็นเทพนั้นวิเศษที่สุด และคิดว่าเทพจะเป็นที่พึ่งให้มนุษย์ได้ทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เทพก็ยังพึ่งตนเองไม่ได้ หรือได้ก็ไม่สมบูรณ์นัก บางส่วนก็ยังต้องพึ่งมนุษย์เสียด้วยซ้ำ มนุษย์เรานั้น ดีกว่าเทพอย่างไม่มีทางเทียบกันได้ ในคัมภีร์พระธรรมบทเล่าว่า พระอินทร์ซึ่งเป็นเทพชั้นสูง ยังแอบมาตักบาตรกับพระสงฆ์เพื่อจะได้
"ต่ออายุบุญ" ออกไปให้ยืนยาว ส่วนท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ซึ่งมีคุณธรรมมาก ก็ยังเคยไล่ตะเพิดเทพมิจฉาทิฐิออกจากซุ้มประตูบ้าน จนกลายเป็นเทพเร่ร่อนมาแล้ว
ดังนั้น โดยความจริงแล้ว เทพไม่ใช่ที่พึ่งของมนุษย์ แต่ที่พึ่งของมนุษย์คือธรรมะ ในพระไตรปิฎกปรากฏอยู่เสมอว่า
เทพมาขอฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และจากพระอรหันต์สาวกทั้งหลายอยู่บ่อยๆ สิ่งที่เทพต้องการ คือโอกาสในการศึกษาและปฏิบัติธรรม เทพจึงไม่มีเวลาว่างมากมายมานั่งดลบันดาลประทานพรอย่างที่มนุษย์เข้าใจ
หากเทพทั้งหลายศักดิ์สิทธิ์จริงๆ แล้ว ในเมืองไทยคงไม่มีใครขัดสน และในประเทศอินเดียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเทพคงไม่มีคนยากคนจน และถ้าเทพมีฤทธิ์บันดาลอะไรๆ ได้ตามที่มนุษย์ขอ ถ้าเช่นนั้น เทพไม่ก้าวก่ายการทำงานของกฎแห่งกรรมหรือ ไหนเคยสอนกันมาว่า ทุกอย่างในชีวิตคนเป็นไปตามกฎแห่งกรรม แต่เดี๋ยวนี้ ทำไมทุกอย่างเป็นไปตามกฎแห่งเทพ กฎสองกฎนี้ไม่ตีกันหรือ
สำหรับพระวินัยนั้น หากพระสงฆ์มีความรู้สักหน่อย ท่านก็จะรู้ว่า การปลุกเสกลงเลขยันต์นั้นเป็นการประกอบ "มิจฉาอาชีวะ" คือ การหาเลี้ยงชีพที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งการทำเป็นธุรกิจยิ่งผิดมหันต์ ยิ่งกระตุ้นให้คนโลภโมโทสันยิ่งไม่ต้องพูดถึงผิดจรรยาของพระสงฆ์อย่างไม่มีทางเลี่ยง ในบางกรณีที่มีการอวดอ้างปาฏิหาริย์ประกอบการขายองค์จตุคาม ยิ่งมีโอกาสผิดพระวินัยร้ายแรงถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ พระสงฆ์ว่าขาดความรู้แล้ว คนไทยกลับขาดความรู้ยิ่งกว่า ก็จตุคามรามเทพนั้น คนมีกิเลสหนาปัญญาทรามด้วยกันแท้ๆ ช่วยกันปลุกเสก ช่วยกันโฆษณา ช่วยกันสร้างเรื่องขึ้นมาหลอกกันเป็นทอดๆ กระนั้น ก็ยังคงมีคนหลงเชื่อ หลงศรัทธาเป็นบ้าเป็นหลัง ปาฏิหาริย์แห่งปาฏิหาริย์ก็คือ ในสังคมไทยคนหลอกคนได้ง่ายดายอย่างเหลือเชื่อ
ขาดความรู้สึก คือ แม้สังคมไทยกำลังเดินออกนอกทางแห่งธรรมถึงขนาดนี้แล้ว มีใคร หน่วยงาน หรือสถาบันไหนตระหนักถึงภัยเหล่านี้บ้าง ? เรายังคงมองการขยายตัวของธุรกิจไสยพาณิชย์ในนามพุทธศาสนานี้ด้วยสายตาแห่งความรื่นรมย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ทำให้คนเข้าวัดมากขึ้น วัดได้รับการบำรุง และวัยรุ่นสนใจธรรมะ นี่คือ อาการขาดทั้งความรู้และขาดทั้งความรู้สึก มองเห็นความเสื่อมเป็นความเจริญนี่คือขาดความรู้ เผยแผ่ความเสื่อมนั้นออกไปจนบดบังพุทธศาสนาและพาสังคมไทยเสื่อมโทรม ก็ยังไม่ตื่น นี่คือขาดความรู้สึก
ขาดจิตสำนึกสาธารณะ คือ มีคนจำนวนน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ที่จะออกมาอุทิศตนติงเตือนให้สังคมไทยได้ตื่นตัว มองเห็นความวิปลาสคลาดเคลื่อนของการพระศาสนาในสังคมไทยและในระบบความเชื่อของสังคมไทย หากสิ่งเหล่านี้ถูกทิ้งเอาไว้ก็จะกลายเป็นมรดกบาปไปจนถึงคนรุ่นหลัง แล้วอย่างนี้ ประเทศไทยจะเอาศักยภาพทางปัญญาที่ไหนไปแข่งขันในเวทีโลก
ขาดปัญญาที่เป็นกลาง คือ ทุกวันนี้ ชนชั้นกลาง ปัญญาชนจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ไม่น้อยล้วนยินดีใช้ปัญญาของตน เพื่อสนองต่อ "นายทุน" และต่อ "ลัทธิบริโภคนิยม" ที่เน้นความร่ำรวยและความมั่งคั่งทางวัตถุเป็นสิ่งสำคัญ คนที่ได้เปรียบสังคมอยู่แล้วเหล่านี้ ต่างยอมหลับตาเสียข้างหนึ่ง ทำเป็นไม่รู้ ไม่เห็น ต่อความเสื่อมที่คุกคามสังคมไทยในยามนี้ เพราะตัวเองพลอยได้รับประโยชน์โสตถิผล จากความโง่เขลาของเพื่อนร่วมสังคมอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ปัญญาของชนชั้นกลางและชั้นสูงในสังคมในยามนี้นั้นแม้จะรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่ก็ทนนิ่งเงียบเสียดีกว่า เพราะในความเงียบของชนชั้นกลางและชั้นสูงทั้งหลาย หมายถึงการโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำจากคนชั้นล่างหรือชั้นอื่นที่โง่กว่า
กรุงศรีอยุธยานั้นว่ากันว่าที่แตกเป็นจุณไม่ใช่เพราะพม่าข้าศึกเก่งกาจอะไร แต่เพราะคนไทยที่เป็นชนชั้นนำ ต่างพากันดูดายและเห็นแก่ตัวต่างหากภาวะอย่างนี้ ชวนให้นึกถึงกวีของสุนทรภู่ที่พรรณนาสภาพกรุงศรีอยุธยาหลังจากเสียกรุงเอาไว้ว่า
"กำแพงป้อมขอบคูก็ดูลึก ไม่น่าอ้ายข้าศึกเข้ามาได้
ยังปล่อยให้ข้ามเข้าเอาเวียงชัย โอ้กระไรเหมือนบุรีไม่มีชาย"
กรุงเทพฯ แตกย่อยยับทางการเมืองการปกครองและทางเศรษฐกิจแล้ว ยังไม่พอ ยังมาแตกย่อยยับทางจิตวิญญาณซ้ำเติมลงไปอีก สังคมไทยกลายเป็นสังคมหลักลอยทางความเชื่อและไม่มีจริยธรรมทางปัญญาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เห็นสภาพแล้ว อยากสวมวิญญาณสุนทรภู่พรรณนาสภาพกรุงเทพฯ เมืองไทยในตอนนี้ว่า
"กำแพงแก้วแววไวไสวสว่าง ยังมาสร้างจตุคามงามหน้าเหลือ
มาทิ้งธรรมสยบเทพเสพเป็นเบือ โอ้ว่าเรือประเทศไทยบรรลัยแล้ว"

บทความโดย.. ว.วชิรเมธี จาก นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

No comments: